เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแคคตัส เจ้าไม้หนามสุดฮิต

 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแคคตัส เจ้าไม้หนามสุดฮิต


"เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแคคตัส"

         แคดตัส หรือ ต้นกระบองเพชร เป็นพืชอวบน้ำชนิดหนึ่ง ที่มีแหล่งกำเนินมาจากทะเลทราย ทำให้พวกเขามีคุณสมบัติพิเศษในการทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้งได้ดี มีลำต้นอวบเพื่อช่วยในการเก็บกักน้ำไว้เพื่อการดำรงชีวิตและเพื่อลดการคายน้ำของลำต้น แคดตัสจึงมีวิวัฒนาการเปลี่ยนใบเป็นตุ่มหนามอย่างที่เราเห็นกันนั่นเอง 

       ทั้งนี้บางสายพันธุ์ยังมีวิวัฒนาการจากการผสมหรือปรับเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศที่อยู่อาศัยจนจนทำให้หนามของแคดตัสมีลักษณะหลากหลายรูปแบบ อาทิ หนามแข็ง ปลายหนามตรงหรืองอเป็นตะขอ ปลายหนามสั้นอ่อนคล้ายขนสัตว์ เป็นต้น และด้วยความแตกต่างที่หลากหลายของสายพันธุ์แคดตัสรวมทั้งสีสันที่สวยงาม ทำให้พวกเขามักถูกนำมาประดับตกแต่งอาหาร โต๊ะทำงาน หรือบ้านเรือนในปัจจุบัน และกลายเป็นธุรกิจไม้ประดับที่ทำเงินได้ด้วยเช่นกัน 

             แคคตัส หรือ กระบองเพชรเป็นต้นไม้ยืนต้นที่นิยมปลูกประดับในอาคารหรือที่โล่งแจ้ง เนื่องจาก มีลำต้นเป็นเหลี่ยมหรือกลีบแปลกตา อีกทั้งยังออกดอกหลากสีสวยงาม รวมถึงเป็นไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี สามารถปลูกได้ในทุกดิน และวางประดับได้ในทุกสถานที่

   วิวัฒนาการกระบองเพชร/แคคตัส

      กระบองเพชร/แคคตัส เป็นพืชในวงศ์ Cactaceae ที่สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นตั่งแต่ต้นยุค Tertiary ซึ่งเชื่อว่าในยุคนั้น กระบองเพชรน่าจะมีลำต้นแบบมีกิ่ง และใบปกคลุมทั่ว ซึ่งเปรียบเทียบได้กับกระบองเพชรในสกุล Pereskia ที่ยังพบมีกิ่ง และใบปกคลุม อาทิ กุหลาบเมาะลำเลิง และกุหลาบพุกาม

     ในยุคต่อมาสภาพอากาศโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง และเกิดเป็นเทือกเขาขึ้นตามไหล่ทวีปทางด้านตะวันตก ทำให้ลม และฝนไม่สามารถพัดผ่านเทือกเขามาฝั่งตะวันออกได้ (ทวีปอเมริกาใต้) ทำให้พื้นที่อีกฝั่งเกิดความแห้งแล้งกลายเป็นทะเลทรายในเวลาต่อมาจนทำให้พันธุ์พืชล้มตาย และบางสายพันธุ์วิวัฒนาการลำต้นเพื่อให้อยู่รอดในสภาพทะเลทรายได้ โดยเฉพาะกระบองเพชรที่ลดรูปลำต้นให้มีขนาดเล็ก ทั้งเรียวสูง หรือกลมเตี้ย ส่วนรากหยั่งตื้นเพื่อดูดเก็บน้ำจากอากาศได้ รวมถึงลดรูปจากใบกลายเป็นหนามเพื่อลดการคายน้ำ และเก็บกักน้ำในลำต้นจนทำให้ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำมาจนถึงปัจจุบัน

  ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย

     กระบองเพชรส่วนมากมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ก่อนจะแพร่กระจายเข้าสู่แอฟริกา และแพร่กระจายไปทั่วโลก ด้วยการนิยมในการปลูกประดับ ซึ่งพันธุ์ดั้งเดิมพบได้ในพื้นที่ทะเลทรายแห้งแล้ง ก่อนจะมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ปลูก และเติบโตได้ในสภาพร้อนชื้น

 กระบองเพชร/แคคตัสในประเทศไทย

    คนไทยแต่ก่อนรู้จักกระบองเพชรบางสายพันธุ์มานานแล้ว อาทิ เชนเสมา และโบตั๋น และเรียกเป็นกระบองเพชรพันธุ์หนึ่งเช่นกัน เพราะมีลักษณะลำต้นสูงยาว ลำต้นมีหนามปกคลุม รวมถึงกระบองเพชรสายพันธุ์ที่รับประทานผลที่รู้จักกัน คือ แก้วมังกร

  ทั้งนี้ จุลสารของชมรมกระบองเพชรแห่งประเทศไทย โดยกระท่อมลุงจรณ์ ได้เขียนไว้เกี่ยวกับกระบองเพชรว่า ก่อนปี พ.ศ. 2500 กระบองเพชรหรือแคคตัสได้ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศโดยผู้ชื่นชอบ(สกุล- สมบัติศิริ) เพื่อปลูก แลเผยแพร่ในกลุ่มเพื่อนฝูง และหลังจากนั้น ก็เริ่มนำกระบองเพชรจากต่างประเทศเข้ามาปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ

   ต่อมา คุณวาสนา สังข์สุวรรณ ได้ตั้งร้านชื่อ 471 จำหน่ายกระบองเพชรที่สนามหลวง ซึ่งถือเป็นร้านที่เปิดจำหน่ายกระบองเพชรร้านแรกในเมืองไทย และต่อมาก็เป็นร้านลุงจรณ์ ตั้งอยู่บริเวณริมคลองลอด ซึ่งในระยะต่อมามีการซื้อขาย และสะสมกันมากขึ้น โดยมีคุณขจี วสุธาร เป็นผู้นำการเล่นกระบองเพชรในขณะนั้น

  ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2519 ได้มีการสั่งไม้ต่อยอดสีแดง ยิมโนด่าง และกระบองเพชรที่ได้จากการเพาะเมล็ดเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น และต่อมานักเล่นกระบองเพชรได้เริ่มการเพาะขยายพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์เองภายในประเทศ ทั้งการเพาะเมล็ด และการต่อยอด ทำให้เกิดความนิยมปลูก และซื้อขายกระบองเพชรกันมากขึ้น

   ลักษณะทั่วไปของกระบองเพชร/แคคตัส 

  ลำต้น และหนาม

      กระบองเพชร/แคคตัส เป็นพืชที่มีลักษณะลำต้นแปลก และแตกต่างจากพืชชนิดอื่น คือ ลำต้นของเกือบทุกพันธุ์จะไม่มีใบ เนื่องจากใบมีวิวัฒนาการลดรูปกลายเป็นหนามเพื่อลดการคายน้ำ และป้องกันการกัดกินของสัตว์  

        ลำต้นกระบองเพชรมีทั้งแบบทรงกลมเตี้ย แบบทรงกระบอกสูง หรือมีรูปร่างคล้ายกระบอง และมักเป็นพูหรือแฉก ซึ่งจะมีปุ่มหนามขึ้นที่สันพูเป็นระยะหรือเป็นหนามเรียงช้อนกันเป็นแถวที่สันพู โดยลำต้นอาจเติบโตเป็นต้นเดี่ยวๆหรือแตกลำต้นเป็นกอใหญ่ ซึ่งบางพันธุ์สามารถสูงได้มากถึง 24 เมตร ลำต้นมีขี้ผึ้งเคลือบ เพื่อลดการคายน้ำ ผิวลำต้น และเนื้อลำต้นมีสีเขียวของคลอโรฟิลล์ ซึ่งทำหน้าที่สังเคราะห์แสงแทนใบ 

  หนามกระบองเพชรมีลักษณะหลายแบบ ทั้งเป็นหนามแข็ง ปลายหนามอาจตรงหรืองอเป็นตะขอ หรือหนามอาจเป็นเส้นอ่อนๆคล้ายขนสัตว์ และมีสีของหนามแตกต่างกันหลายสี อาทิ สีเหลือง สีแดง สีส้ม หรือสีน้ำตาล และบางพันธุ์สามารถเปลี่ยนสีของหนามตามอายุ และสภาพอากาศได้


  
   ดอก
      กระบองเพชรเป็นไม้ที่ออกดอกยาก ทำให้ไม่ค่อยมีโอกาสเห็นกันมากนัก เพราะจะออกดอกเมื่อต้นมีอายุโตเต็มที่ ซึ่งกว่าจะออกดอกก็มีอายุหลายปี แต่หากออกดอกจะสวยงามไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่น

     ดอกกระบองเพชรมักออกเป็นดอกเดี่ยวโดดๆหรือออกเป็นกระจุก ดอกไม่มีก้านก้านดอก กลีบดอกมีหลายสี อาทิ สีแดง สีชมพู สีเหลือง และสีขาว เป็นต้น ซึ่งดอกส่วนมากจะแทงออกบริเวณตุ่มหนามตามสันพู แต่มีบางพันธุ์ที่ออกบริเวณส่วนอื่น อาทิ
       – สกุล Echinocereus ออกดอกใกล้กับตุ่มหนาม
       – สกุล Mammillaria ออกดอกบริเวณเนินหนาม
       – สกุล Melocactus ออกดอกบริเวณกลุ่มหนามเพาะส่วนปลายยอด


    ผล
        ผลกระบองเพชรมักมีสีสันสดใส ผลมีรูปทรงหลายแบบ อาทิ ทรงกลม รูปไข่ หรือทรงกระบอก ผิวผลเรียบ และเป็นมัน และบางพันธุ์มีหนามปกคลุม หรือเป็นเกล็ดแห้งปกคลุม ส่วนเนื้อผลนุ่ม มีสีใสคล้ายวุ้น ที่แทรกด้วยเมล็ด เมื่อผลแก่เต็มที่จะแห้งเหี่ยว และร่วงลงดิน แต่อาจพบบางพันธุ์ที่ผลแห้งแล้วจะปริแตกให้เมล็ดกระเด็นออกห่างลำต้น






             https://baancactus.com/
                                

1 ความคิดเห็น:

  1. ความรู้ดีๆทั้งนั้นเลยค่ะ ขอบคุณที่รวมข้อมูลมาให้นะคะ

    ตอบลบ